#ทฤษฎีเบี่ยงเบนความสนใจ ในการวางโครงสร้างคดีแล้วการเตรียมสืบพยานในหลายครั้งผมหยิบยกทฤษฎีนี้มาใช้ซึ่งมีทางได้ผลหรือไม่ได้ผลอยู่ที่ประสบการณ์และการรู้เท่าทันการของทนายความอีกฝ่ายหนึ่ง
โดยในการฟ้อง ให้การ การนำสืบ รวมถึงน้ำหนักในการซักค้าน สำหรับคดีที่มีประเด็นข้อพิพาทหลายประเด็นนั้น หากบางครั้งเราได้ถ่ายเทน้ำหนักความน่าสนใจไปในประเด็นใดประเด็นหนึ่งเป็นพิเศษจนอาจทำให้ คู่กรณีเข้าใจว่า ประเด็นที่เรากำลังให้ความสำคัญนั้นเป็นประเด็นสำคัญในคดี ก็อาจจะเบี่ยงเบนให้คู่กรณีร่วมมาลงรายละเอียดในประเด็นดังกล่าวกับเราได้
สำหรับข้อดีหรือประโยชน์ที่จะได้นั้นก็จะทำให้คู่กรณีนั้น เสียเวลาหรือให้ความสำคัญในประเด็นหลักที่แท้จริงน้อยลง เช่นให้ความสำคัญในการถามค้านหรือถามจริงในประเด็นที่แท้จริงน้อยลง
ในคดีหนึ่งเป็นคดีผิดสัญญา ก่อสร้างคอนโดดังใจกลางเมือง ประเด็นหลักที่สกัดมาเป็นแก่นในคดีนั้นมีอยู่ 2 ข้อคือ
- ก่อสร้างผิดแบบจากที่โฆษณา
- เงื่อนไขระยะเวลาในการส่งมอบช้ากว่ากำหนด
โดยผู้เขียนได้ให้ความสำคัญอันเป็นผลแพ้ชนะในคดีก็คือเงื่อนไขในประเด็นข้อ 2 คือ ระยะเวลาตามสัญญา โดยสัญญานั้นจะมีการเขียนรายละเอียดค่อนข้างจะซับซ้อน แต่ในที่สุดก็มีกรอบระยะเวลาที่แน่นอนชัดเจนและมีข้อเท็จจริงรองรับที่น่าเชื่อถือว่าฝ่ายคู่กรณีเป็นฝ่ายยิดสัญญา
ส่วนประเด็นข้อแรกเรื่องการก่อสร้างผิดแผกไปจากที่โฆษณานั้น ผู้เขียนได้ให้ความสำคัญในลำดับรองลงมาเนื่องจากเป็นข้อเท็จจริงที่นำสืบค่อนข้างจะยาก อีกทั้งความแตกต่างนั้นบางครั้งล้วนเป็นความรู้สึก ในสถานะโจทก์ก็จะรู้สึกแบบหนึ่ง ในสถานะของจำเลยก็จะรู้สึกแบบหนึ่ง
แต่ในขณะนำสืบพยานผู้เขียนก็ได้ ใส่รายละเอียดในการซักค้าน ให้คู่ความฝ่ายตรงข้าม มีความเข้าใจว่า กำลังให้ความสำคัญในส่วนนั้นเป็นอันดับ 1 คือความแตกต่างของการก่อสร้าง ทำให้คู่ความฝ่ายตรงข้ามได้ลงมาเล่นในรายละเอียดดังกล่าวโดยได้ซักค้าน รวมทั้งถามติงในประเด็นดังกล่าวเป็นเวลานานจนทำให้แทบจะหมดเวลาในการแก้ต่างในอีกประเด็นหนึ่ง คือประเด็นเรื่องเงื่อนไขระยะเวลา ซึ่งการดำเนินกระบวนพิจารณาคดี(สืบพยาน)นั้นถูกกำหนดกรอบระยะเวลาไว้อย่างแน่นอนแล้ว
ผลคือ เป็นสาเหตุให้คู่ความฝ่ายตรงข้ามแก้ต่าง ในประเด็นที่เป็นหัวใจที่แท้จริงได้ไม่ขาดเพราะเสียเวลาลงไปเล่นในประเด็นอีกประเด็นหนึ่งซึ่งเป็นประเด็นลวง อย่างไรก็ตามเทคนิคนี้อาจจะได้ผลหรือไม่นั้นอยู่ที่ประสบการณ์ของคู่ความฝ่ายตรงข้ามด้วยแต่ลองเอาไปปรับใช้กันดูครับ
ภูดิท โทณผลิน
23 กันยายน 2562
ติดตามความรู้ทางกฎหมายเพิ่มเติมได้ทาง line@
https://line.me/R/ti/p/%40kft2307m